วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เทคนิค การลงปลา อะโรวาน่า (ขนาดใหญ่) เพื่อเลี้ยงรวม

วันนี้ผมจะมานำเสนอแนวทางการรวมปลาอะโรวาน่าของผมครับ

หลายคนคงยังไม่รู้ หลังบ้านผมได้เนรมิตบ่อปลาขนาด 6x3 เมตรขึ้นมาเมื่อกลางปี 2549

แล้วเสร็จและเริ่มปฎิบัติการล่าฝันตั้งแต่เดือนตุลาคม

ด้วยการลงปลาอะโรวาน่าทองอินโดขนาดใหญ่เลี้ยงรวมกันจำนวน 9 ตัว





แบบจำลองบ่อ



ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการลงปลา

ขอพูดเรื่องการสร้างบ่อสักเล็กน้อยนะครับ

การออกแบบก่อสร้าง ขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ฯลฯ





ภาพบ่อกรอง จากด้านข้าง



ดูการออกแบบบ่อกรองกันบ้าง...







จากพื้นที่ที่เล็งแล้วเล็งอีกๆๆๆๆ จากหน้าบ้าน มาข้างบ้าน มาหลังบ้าน

คิดไตร่ตรองอยู่นาน สรุปคำตอบก็ไปอยู่ที่หลังบ้าน









ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง หลักๆก็คือ บ่อนี้ผมจะสร้างเป็นบ่อแบบก่อ

เนื่องมาจาก บ่อใหม่นี้ตั้งใจให้สามารถดูปลาแบบ side view ได้ด้วย

บ่อก่อจึงเป็นคำตอบที่เหมาะในการติดตั้งกระจกไว้ชมปลาจากด้านข้าง









การดูปลาอะโรวาน่าจากด้านข้าง จะช่วยให้เราศึกษาพฤติกรรมการอยู่รวมกันได้ง่าย

สังเกตอาการผิดปกติต่างๆได้ดี รวมไปถึงอาการป่วย

หรือบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทกันได้อย่างใกล้ชิด

ฉะนั้น ที่บ้านผมจึงลงความเห็นกันว่าควรไปสร้างหลบอยู่หลังบ้าน

เพื่อไม่ให้เสียภูมิทัศน์ของบ้าน บวกกับตรงจุดนั้นเป็นส่วนที่เงียบสงบที่สุดในบ้าน

เหมาะสำหรับการจู๋จี๋ดู๋ดี๋ผสมพันธุ์กันเป็นที่สุด เห่อะเห่อะ ^_^

นอกจากนี้ ทำเลตรงนี้ยังมีแสงแดดส่องไม่มากจนเกินไปนัก

เนื่องจากตัวบ้านนั้นช่วยบังแสงแดดได้เป็นอย่างดี









อ่อ ลืมบอกไปว่า การเลือกทำเลในการก่อสร้างนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากๆนะครับ

ขอให้คิดให้ดี ใช้เวลาทบทวนให้มั่นใจ ยิ่งโดยเฉพาะบ้านที่มีพื้นที่จำกัด

เพราะบ่อปลานี้จะต้องอยู่กับเราอีกนาน สร้างแล้วสร้างเลย

ไม่เหมือนตู้ปลา ที่จะวางตรงไหนหรือย้ายไปมาได้

ครับ และเมื่อได้ทำเลที่คิดว่าโคเอที่สุดแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการออกแบบ

บอกได้เลยครับว่า การออกแบบเอง การคุมงานก่อสร้างเอง

ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เป็นเท่าตัว!!!!!

บ่อผมขนาด 6x2.5x1 เมตร (ยxกxส) รวมปริมาณน้ำได้ราวๆ 15 ตัน

ถือว่าเป็นบ่อที่ค่อนข้างเล็ก แต่ก็พอเหมาะกับงบประมาณของผมที่มีอยู่ในกระเป๋า

เพราะการสร้างข้ามขนาดนี้ไป ตัวเลขจะกระโดดไปอีกเยอะเลย

บอกไปไม่มีใครเชื่อแน่เลย บ่อนี้ผมลงทุนไปน้อยมาก หุหุ









การที่จะคุมตัวเลขให้ได้นั้น ต้องทำให้ตัวบ่อมีความสูงไม่มากจนเกินไปนัก

เมื่อความสูงของบ่อไม่มาก ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก่อผนังบ่อแบบหล่อ

เพราะการสร้างโครงสร้างด้วยผนังแบบหล่อนั้น

จะทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับบ่อขนาดนี้ขึ้นไปทะลุแสนอย่างแน่นอน

บ่อผมเลือกการก่อสร้างแบบก่ออิฐมอญแถวเดียว ฉาบปูน และขัดมัน (เบสิคสุดๆ)

แต่มีผนังด้านหนึ่งที่ทำเป็นแบบหล่อ นั่นก็คือด้านหน้าบ่อ

เพื่อที่ให้การติดตั้งกระจกเป็นไปด้วยความแข็งแรงและปลอดภัย









เมื่อดีไซน์บ่อให้ไฉไลแล้ว ก็หาผู้รับเหมามาทำ งานนี้ได้มืออาชีพมาทำ

เป็นช่างก่อสร้างแถวบ้านที่รับทำสระว่ายน้ำและบ่อปลาโดยตรง

ก็ง่ายหน่อยในการคุยรายละเอียดต่างๆในการก่อสร้าง

(บ่อปลาคาร์ฟผมก่อนนี้ ตอนนั้นต้องยอมรับว่าตัวเองยังมีประสบการณ์ค่อนข้างน้อย

ไปรับเอาช่างสร้างบ้านมาทำ ตอนนั้นต้องปวดหัวกันทุกวันเลย เฮ้ออ...)









เมื่อได้ช่างรับเหมามา ก็เป็นอันเสร็จพิธี ผมแทบไม่ต้องยุ่งอะไรเลย

เลิกจากทำงานมาตอนเย็น ผมก็จะมาเดินตรวจงาน

ทุกเช้าก็จะมาประชุมงานคุยงานกัน บ่อนี้สร้างง่ายและสบายมากเลย

ขอย้ำ ช่างผู้มีประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญมากมากกกกก ได้ช่างดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หุหุ

เริ่มด้วยการปรับพื้นที่ ลงเสาเข็ม เทพื้น ก่อผนัง ฉาบปูน ฯลฯ

รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 10 กว่าวันเท่านั้นเอง

แต่ขั้นตอนการติดตั้งกระจกและรอให้ซิลิโคนแห้งพร้อมใช้งานนี่สิ อีกเป็นเดือน...

สรุปค่าใช้จ่ายของบ่อนี้ ถูกกว่าซื้อตู้ 84x30x30 ซะอีก หุหุ ^_^









เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ สิ่งต่อมาก็คือการรอ

ด้วยการใส่น้ำให้เต็มบ่อ เพื่อให้ปูนขับสารต่างๆออกมาให้หมด

คนส่วนใหญ่ตกม้าตายจากจุดนี้ เพราะพอมีบ่อ ก็อยากจะรีบเอาปลามาลงกันเร็วๆ

ทำให้ปลาเสียหาย เจ็บป่วยกันไปก็มี

บ่อนี้ผมแช่น้ำอยู่เดือนกว่า รอจนชัวร์จริงๆ

ตรวจสอบด้วยการเอาปลาตะเพียนลงไปเทส

เมื่อตะเพียนอยู่ได้ อะโรวาน่าก็ย่อมอยู่ได้แน่นอน...









มาถึงเรื่องสำคัญกันแล้ว นั่นก็คือการลงปลารวมกันนั้นเอง

ในกรณีที่ซื้อปลาขนาดเล็กมา แล้วนำมาเลี้ยงรวมกัน

ขั้นตอนหรือเทคนิดต่างๆก็คงไม่มีอะไรมากนัก

ปลาเล็กมักไม่ร้ายกันจนกันถึงตาย อย่างมากก็เจ็บนิดหน่อย

ซึ่งจริงๆแล้ว แนวทางนี้เป็นสิ่งที่ดี ปลอดภัยและง่ายกว่ามาก

แต่คนส่วนใหญ่ชอบที่จะนำมาปลาขนาดใหญ่มารวมกันเลยมากกว่า

ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น.....

ซึ่งการทำแบบนี้มีโอกาสทำให้ปลาเสียหายจนถึงขั้นตายได้อย่างง่ายดาย

ปลาใหญ่ที่มีขนาดมากกว่า 20 นิ้วขึ้นไป เมื่อมีการต่อสู้กัน

การกัดกัน คงไม่เท่าไหร่ แต่ที่น่าห่วงก็คือการพุ่งเข้าชน!!!!!

ทีเดียวเข้าจังๆหล่ะก็ เตรียมถุงดำได้เลยครับ

ต้องบอกเลยว่าก่อนนี้เห็นมาหลายครั้ง

ไม่เชื่อไปถามผู้ที่เลี้ยงรวมกันมาเลยว่า

ก่อนนี้เคยทำปลาตายมาแล้วกันบ้างรึเปล่า?

ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการลงปลา!!!!!

ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการในครั้งนี้

ผมก็ได้เริ่มศึกษาและเก็บข้อมูลในเรื่องนี้มาพอสมควร

จึงอยากมาแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จเร็จเล็กๆบางส่วนของผมให้กับเพื่อนกันครับ





ตัวนี้ขนาด 24 นิ้ว ถ่ายก่อนที่จะนำลงบ่อ



ข้อควรพิจารณาในการรวมปลาอะโรวาน่าขนาดใหญ่ มีดังต่อไปนี้ครับ

*****หมายเหตุ : บทความนี้เฉพาะปลาตู้ที่เลี้ยงเดี่ยวและต้องการย้ายมาเลี้ยงรวมกันนะครับ

1.เพศของปลา

สิ่งแรกที่ผมว่าสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือการดูเพศปลาครับ

การจับใส่ไปรวมกันมั่วๆคงไม่ใช่แน่นอน

การมีแต่ปลาเพศเมีย หรือการมีน้อยไป ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่

เรื่องตลกมีอยู่ว่า ปัจจุบันหาปลาตัวเมียขนาดใหญ่ค่อนข้างยาก

เพราะสีสันและรูปทรงของปลาตัวผู้ มีความสวยโดดเด่นกว่าตัวเมีย

ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จึงมีแต่ปลาตัวผู้ไว้ในครอบครอง

ไอ้ครั้นจะไปหาตัวเมียใหญ่ๆนั้น แทบไม่เจอ เหอๆๆ

ที่ยากไปกว่านั้นอีกก็คือ การหาตัวผู้หื่นๆเก่งๆ ฝีมือดี ลีลาเด็ดนั้น

ยากมากกกกกกกก ถึงยากที่สุด...

ในต่างประเทศปลาตัวผู้ที่เคยอมไข่และให้ลูกมาแล้ว จะเป็นปลาที่มีราคาสูงมาก

บ้านเราคงไม่มีใครขาย คงต้องปั้นต้องลุ้นกันเอง

หรือถ้ามีขาย ก็มักเป็นพวกชอบอมอย่างเดียว อมไม่คาย กลืนหายหม๊ดดด หุหุ

ฉะนั้นหากคิดจะเลี้ยงปลารวม สิ่งแรกที่ควรหมั่นศึกษา นั่นก็คือการดูเพศปลา...





มาฮาโตะคู่นี้ ก่อนที่จะลงบ่อก็จับคู่กันตั้งแต่ในตู้แล้ว...



2.สัดส่วนระหว่างปลาเพศผู้และปลาเพศเมีย

ข้อนี้ต้องขอบอกว่าไม่มีสูตรตายตัว

แต่ถ้าต้องการให้สมาชิกในบ่ออยู่กันแบบสงบสุขหน่อย มีการทะเลาะกันน้อยๆ

ก็ขอแนะนำว่าควรให้มีจำนวนปลาตัวเมียมากกว่าตัวผู้

ก็เนื่องมาจากโดยธรรมชาติของนิสัยปลาตัวผู้ จะดุร้ายกว่าเพศเมียนั้นเอง

เหมือนบ่อผม เน้นตัวเมีย จึงอยู่กันแบบปรองดองมาจนถึงทุกวันนี้

แต่กลับกัน ยิ่งเสี่ยง โอกาสสำเร็จก็จะมีมาก การมีปลาเพศผู้เยอะๆ

ย่อมเพิ่มโอกาสในการจับคู่ การอมไข่ มากยิ่งขึ้น เป็นการเสมือนธรรมชาติ





ดูหน้ากันชัดๆ



3.จำนวนของปลาต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ในบ่อ

โดยทั่วไป มักคำนวณจากปลา 1 ตัว ต่อปริมาณน้ำ 1 ตันครึ่ง (เป็นอย่างน้อย)

อย่างเช่น บ่อผมปริมาณน้ำ 15 ตัน 15/1.5 = 10 ตัว เป็นต้น

แต่ผมเองอยากให้ปลาผมอยู่กันแบบสบายๆ เลยตกลงที่ 5 ตัว

ว่ายกันสบายเลย และที่สำคัญระบบกรองไม่ต้องทำงานหนัก

การดูแลคุณภาพน้ำก็ทำได้ง่าย เลี้ยงปลาบ่อนี้ ชิวสุดๆครับ

หน้าที่ผมมีเพียงโยนเนื้อกุ้งหั่นชิ้นเช้า-เย็นอย่างเดียว หุหุ





ดูเนื้อเกล็ดกันบ้าง...



4.เลือกปลาที่สมบูรณ์และแข็งแรงเท่านั้น

คนส่วนใหญ่มักชอบเลือกซื้อปลาตำหนิมาเพื่อเลี้ยงรวม

หาปลาราคาย่อมเยาว์มา นั้นหมายความว่า

ปลาพวกนี้ส่วนใหญ่มักจะอ่อนแอและมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

ใครที่คิดเช่นนี้ คิดดูใหม่นะครับ ก่อนนี้ผมก็เคยคิดที่จะหาเฉพาะปลาถูกๆมา

ตอนหลังเริ่มมาคิดได้ เพราะนอกจากสุขภาพที่ดีของปลาเราแล้ว

การที่จะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้น ก็ควรจะต้องคัดสรรสุดยอดปลามาด้วยซ้ำไป

มาเพาะพันธุ์ทั้งที จะเอาปลาขี้เหล่มาทำไมหล่ะ จริงมั้ยครับ?

เพิ่มโอกาสคุณภาพของลูกปลาที่เราจะได้ในอนาคต(ถ้าได้นะครับ ฮาฮาฮา)

(หมายเหตุ*** แต่ถ้าตำหนิทั่วไปที่ไม่มีผลต่อสุขภาพปลา ก็คงไม่เป็นอะไรครับ)









5.ลงปลาพร้อมกันทุกตัว

การลงปลาอะโรวาน่ารวมกันนั้น ไม่ใช่อยากจะซื้อมาลงมาเพิ่มเมื่อไหร่ก็ทำ

ควรลงพร้อมกันทีเดียว เพื่อลดโอกาสในการทะเลาะวิวาท

เพราะหากมีปลาเก่าที่อยู่อาศัยมาก่อน มันก็จะวางตัวเป็นเจ้าถิ่น

ทำให้มีปากเสียงกับผู้มาใหม่ได้อย่างง่ายดาย

การลงปลาพร้อมๆกันทำให้ต่างฝ่ายต่างมึนงงกับสภาพแวดล้อมใหม่

และลดความก้าวร้าวลงไปได้มากทีเดียว





จริงๆแล้วที่ด้านหน้าบ่อจะมีรั้วกันปลากระโดดนะครับ เวลาที่ชมป



6.วางแผนการเรื่องขนย้ายปลาให้ดี

ควรวางแผนเรื่องนี้ให้ดี

ระยะเวลาที่ปลาแต่ละตัวต้องเดินทางควรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

กรณีของผม ผมเพิ่มตู้ใหญ่ที่บ้านเลย 5 ใบ

แล้วนำปลามาเลี้ยง มาพักเก็บตัวให้สมบูรณ์(พร้อมกันทุกตัว)ก่อน

เมื่อพร้อม ปลาก็อยู่ในถุงเพียงครู่เดียวเท่านั้น

วิธีนี้จะลดโอกาสการสูญเสียได้มากทีเดียว

เพราะมีปลาจำนวนไม่น้อยที่เมื่อต้องเดินทาง ต้องอยู่ในถุงนานๆ

ก็จะเครียด และป่วยลงแบบฉับพลันเอาดื้อๆ

ซึ่งเมื่อมาโดนการกัดการชนจากเพื่อนใหม่ในบ่อเพียงเล็กน้อย

อาจทำให้ตายได้ง่ายๆเลยทีเดียว





เจ้า “ไลก้า” สุนัขเฝ้าบ่อ หุหุ



7.จับปลาและย้ายปลาอย่างรอบคอบและรัดกุมกว่าปกติ

ที่ว่าให้จับและขนย้ายปลาให้รอบคอบนั้น

ก็คือเราจะต้องย้ายปลาทั้งหมดให้นุ่มนวลและรัดกุมกว่าปกติมากๆๆๆๆๆ

เพราะกรณีนี้อาจเป็นเคสตกม้าตายได้

เนื่องจากบางทีเราเตรียมทุกอย่างไว้ดีแล้ว

แต่มาพลาดเรื่องการย้ายปลา บรรลัยแน่ครับ

ก็คือ ตอนที่จับปลานั้น ต้องทำแบบใจเย็นอย่างที่สุด

อย่าได้ไปเทียบกับการจับย้ายปลาจากตู้นู้นไปตู้นี้แบบทั่วไปเด็ดขาด

ขอให้เพิ่มความระมัดระวังเป็น 2 เท่า

อย่าให้ปลากระโดดสวนหรือโดดทะลุถุงลงมานอนพื้น หรือตกใจพุ่งชนตู้เด็ดขาด

เคสแบบนี้บอกได้เลยว่าปลาเครียดมาก ไม่ควรมารวมกันอย่างยิ่ง

กรณีนี้ขอแนะนำว่า สมมติว่าต้องการย้ายปลาใหญ่สัก 10 ตัวมาลงบ่อรวม

จับตัวที่ 1-9 จากตู้มาแล้ว ราบรื่นดีทุกอย่าง

แต่พอมาจับตัวที่ 10 แล้วดันออกอิทธิฤทธิ์ พุ่งทะลุถุงมานอนกับพื้น

เคสแบบนี้ถ้าเป็นผม ผมจะเอาเจ้า 9 ตัวแรก ปล่อยกลับตู้เดิมพวกมันเลยครับ

รออีกสัก 3-4 วันเป็นอย่างน้อย รอให้ตัวที่ 10 ฟื้นตัวและจิตใจอย่างเต็มที่ก่อน แล้วค่อยเอาใหม่

(หลายคนอาจบอก โห! ต้องขนาดนั้นเลยเหรอ จริงๆก็คงไม่ต้องขนาดนี้ก็ได้

แต่โดยส่วนตัวผมไม่เสี่ยงครับ สงสารชีวิตปลาของเราครับ

เราต้องลดโอกาสเสี่ยงทุกทางที่เราควบคุมได้ครับ)





กว่าจะได้ภาพนี้มา ถ่ายอยู่เหนื่อยเหมือนกัน



8.อดอาหารปลาให้นานกว่าปกติก่อนการเคลื่อนย้าย

การอดอาหารในปลาขนาดใหญ่นั้น เพียงแค่วันสองวันไม่พอแน่นอนครับ

ควรงดอาหารล่วงหน้า 5 วันเป็นอย่างน้อยนะครับ

เพราะการที่ในกระเพาะปลายังมีอาหารอยู่นั้น

จะทำให้ปลาต้องใช้พลังงานและออกซิเจนในร่างกายมากกว่าปกติ

ก็เพื่อในย่อยสลายอาหารในกระเพาะนั้นเอง

บวกกับระหว่างที่ปลาอยู่ในถุงขณะที่เคลื่อนย้ายนั้น

อาจจะสำรอกอาหารออกมา ทำให้น้ำในถุงเน่าได้ ปลาเราจะแย่เอานะครับ





ใครก็ไม่รู้ข้างล่างเจ้าบ่าวหล๊อหล่อ...คริคริ



9.รวมพลังมัจฉามิตร

วันที่เราลงปลา ห้ามเล่นบทพระเอกคนเดียวเด็ดขาด

เราไม่สามารถทำมันทุกอย่าง ตั้งแต่จับปลา ย้ายปลา ลงปลา ฯลฯ คนเดียวนะครับ

แม้จะทำได้ก็เถอะ แต่ประสิทธิภาพและระยะเวลานั้นย่อมสู้ช่วยกันทำหลายๆคนไม่ได้แน่นอน

ในการนี้ เราคงต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงให้มาช่วยลงแขกกันหน่อย

เพราะการย้ายปลาใหญ่หลายๆตัว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เหนื่อยและหนักแน่

แต่ก็ไม่ใช่ว่าสักแต่เอาเพื่อนที่ไหนมาก็ได้ เพราะเคสแบบนี้เป็นเคสพิเศษ

ผู้ที่มาช่วยควรเป็นเหล่ามัจฉามิตร เป็นเพื่อนที่เลี้ยงและมีประสบการณ์ในปลาอะโรวาน่ามาพอควร

เพื่อให้การทำงานในแต่ละขั้นตอนเป็นไปด้วยความราบรื่น

แล้วก็จบท้ายวันนั้นด้วยเบียร์สักหนึ่งลัง หรือเหล้าสักสองขวด แฮปปี้ครับ ^_^





อีกตัวที่เอาลงบ่อ ปัจจุบันนี้สีเข้มกว่านี้มากกกกก



10.ยาสลบไม่ต้องแล้ว

ข้ามไปเรื่องนึงครับ ก็คือในขั้นตอนของการจับปลานั้น

ในการย้ายปลาแบบนี้ หากเราไม่รู้จักปลาตัวนั้นเป็นอย่างดี

ยาสลบไม่ควรใช้นะครับ

เพราะถึงแม้ปลาจะตกใจดิ้นบ้างเล็กน้อย ครีบเดาะ หางหัก

ก็ยังดีกว่าแพ้ยาสลบ หรือโดนมอมหมดสติสตังค์ไป

แต่ถ้ารู้แน่ชัดถึงประวัติและปริมาณยาสลบที่เคยใช้ในปลาแต่ละตัวมาก่อน

ว่ามันไม่แพ้ ไม่สลบง่ายเกินไป ฯลฯ จะใช้ยาก็ตามใจครับ

แต่โดยส่วนตัว กรณีนี้ผมไม่ใช้ครับ...





เจ้า DDB (Deep Dark Blue)ไฮแบคตัวงาม



11.เช็คความแตกต่างของค่าน้ำ

อย่ามองข้ามเรื่องค่า PH ของน้ำครับ

การต่างกันมากของค่า PH ทำให้ปลาต้องปรับตัวมากกว่าปกติ

ดังนั้น เราควรดูแลน้ำในตู้ปลาแต่ละตัวอย่างดีเป็นพิเศษหน่อยในช่วงก่อนการย้ายปลา

ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้จนค่า PH ใกล้เคียงกับค่า PH ของน้ำในบ่อ

ให้ค่าน้ำในตู้ไม่ต่างจากค่าน้ำในบ่อมากนัก

และในวันที่ทำการย้ายปลานั้น ก็จะต้องทำการตรวจวัดค่า PH มาด้วย

แล้วเอาปากกาเมจิกเขียนที่ไว้ที่ถุงปลาแต่ละตัวเลย

เพื่อให้รู้ว่าปลาถุงไหนที่เราจะทำการปรับค่า PH นานเป็นพิเศษกว่าถุงอื่น

อ่อ ในบ่อสร้างใหม่นั้น ควรวัดค่าไนไตรท์บ่อยๆด้วยครับ

เพราะว่าระบบอาจจะยังเซ็ตตัวไม่สมบูรณ์มากนัก

อาจเกิดกรณีไนไตรท์สูงปรี๊ดแบบฉับพลันได้ง่ายๆ





บรรยากาศตอนที่ลงปลาวันแรก



12.ยิ่งมืดยิ่งดี

เรื่องเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยปลานั้น ควรเป็นในช่วงเวลากลางคืน

ก็เนื่องมาจากว่า ปลาอะโรวาน่าจะด้อยความสามารถในการมองเห็นในที่มืด

การที่ให้เค้าได้ปรับตัว ว่ายปรับสภาพร่างกาย ในค่ำคืนแรก

ก็จะลดโอกาสในการบาดเจ็บและทะเลาะกันในวันแรกได้เป็นอย่างดี

ก็เหมือนปล่อยให้คนสองคนไปต่อยกันในห้องมืด โอกาสต่อยกันหนักๆย่อมมีน้อย

การทำแบบนี้จะลดเปอร์เซ็นต์การพุ่งชนแบบแรงๆได้ 99% ครับ

เพราะส่วนใหญ่การสูญเสียมักเกิดขึ้นในวันแรกของการลงปลา





ดูสีเกล็ดเจ้า DDB ชัดๆอีกสักรูป



13.วันไหนดีน้า?

ผมขอแนะนำว่าวันที่ลงปลาควรเป็นวันในต้นสัปดาห์

ก็คือ คืนวันอาทิตย์ถึงวันพุธ

ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า หากปลาของเรามีการอาการบาดเจ็บรุนแรงจากการทำร้ายกัน

เมื่อสาหัสเกินที่เราจะดูแล วิธีที่จะช่วยเค้าได้ก็คงไม่พ้นการพาเค้าไปโรงพยาบาลครับ

ดังนั้น ก็ควรลงปลาในช่วงวันทำการของโรงพยาบาล

หากไปลงปลาเอาศุกร์-เสาร์ ความพร้อมของคุณหมอ ของรพ.ก็จะลดน้อยลงครับ





คืนแรก ทำน้ำให้ขุ่นเข้าไว้...



14.ลดระยะในการมองเห็นด้วยดินบัว

สูตรนี้ขออนุญาตก็อปปี้พี่เอมา ต้องยอมรับเลย ได้ผลดีทีเดียว

ก่อนปล่อยปลานั้น แวะร้านขายต้นไม้แถวบ้าน แล้วซื้อดินบัวมาสัก 1 ก้อนนะครับ

ก้อนนึง 10 บาท ขนาดก็ราวๆจานข้าว

แล้วก็นำมาละลายน้ำ จนกลายเป็นขี้โคลน แล้วเทลงบ่อเลยครับ

ยิ่งเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี ผมคงบอกสัดส่วนการใช้ไม่ได้

อันนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละท่าน

(ของผมน้ำ 15 ตันใช้ประมาณครึ่งก้อน)

แต่ของผมมีหลักก็คือ ใช้การวัดจากระยะการมองเห็น…..

ในสัปดาห์แรกของการลงปลา ผมกำหนดระยะการมองเห็นไว้ที่ 1 เมตร นั้นหมายความว่า

น้ำในบ่อจะขุ่นคลั่กเลย มองอะไรไม่เห็นเลยนะครับ

ถ้าเอามือลงไปในน้ำ ก็ให้ขุ่นขนาดที่ที่ระยะ 1 เมตร มองไม่เห็นมือตัวเองเลย (ขุ่นมาก)

วิธีนี้ทำให้ลดโอกาสการวางมวยแบบจองล้างจองผลาญได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งการพุ่งชนแบบตอปิโดก็จะเกิดขึ้นน้อยมากครับ

เพราะเหล่าปลาในบ่อ จะมองไม่ค่อยเห็นกันสักเท่าไหร่

วิธีนี้เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ที่ปกติน้ำในหนองคลองบึงต่างๆก็ขุ่นแบบนี้อยู่แล้ว

การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเครียดของปลาไปได้มากเลยทีเดียว

อ่อ แล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าน้ำจะดูขุ่นจะดูน่าเกลียดนะครับ

เพียงไม่นาน ประมาณ 2-4 สัปดาห์น้ำในบ่อก็จะกลับมาใสปิ๊งเหมือนเดิม ^_^





เจ้า DDB อีกที...



15.เตรียมตาข่ายกกั้นคอกเพื่อแยกปลา

ในการนี้ เราต้องเผื่อล่วงหน้าสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเอาไว้

บางทีอาจจะมีบางตัวที่เจ็บหนัก ที่เครียดจัด ดุก้าวร้าวจัด ฯลฯ

เราก็คงจำเป็นที่จะต้องแยกเค้าออกมาจากลุ่ม

ซึ่งวิธีที่ง่ายและเป็นที่นิยมก็คือการนำท่อ PVC และตาข่ายพลาสติกมาทำเป็นคอก

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็นำคอกลงไปกันปลาในบ่อได้อย่างทันที

เราจะไม่จับปลาขึ้นมาแยกรักษาในตู้นะครับ

การทำแบบนี้ ทำให้การกลับไปรวมฝูงอีกครั้งลำบากมาก

เพราะการที่เค้าได้อยู่ในบ่อโดยการกั้นคอก

จะทำปลาตัวอื่นได้ทำความรู้จักกันอยู่ตลอดเวลา

เมื่อเอาที่กั้นคอกออก ก็ง่ายต่อการยอมรับในการเข้าฝูง

อีกทั้งน้ำในตู้กับน้ำในบ่อนั้นก็ไม่เหมือนกัน เราไม่ควรให้เค้าต้องปรับตัวไปมาหลายครั้ง

คือถ้าตั้งใจแล้วว่าจะเลี้ยงรวม เราต้องให้เค้าปรับตัวเข้าหาบ่อให้ได้

การนำปลากลับขึ้นตู้ เป็นการถอยหลังที่น่ากลัว...

ถ้าท่านจับปลาที่ป่วยสาหัสในวันแรกของการรวมปลาไปลงตู้หล่ะก็

ผมรับรองว่าอาการจะหนักไปมากกว่าเดิมซะอีก ห้ามครับห้าม





เจ้ายักษ์ใหญ่ประจำบ่อ...



NOTE*****อาการผิดปกติที่มักพบใน 1-3 ชั่วโมงแรกของการลงปลา

ส่วนใหญ่จะมี 2 อย่างที่พบกันอยู่บ่อยครั้ง นั้นก็คืออาการหัวทิ่ม และขับเมือก

วิธีการแก้ไขมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปลาแต่ละตัว สาเหตุและอาการ ณ ขณะนั้น

ในที่นี้ไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากมีรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก





คืนแรก เก็บภาพไว้นิด ก่อนปิดไฟให้มืดเพื่อให้ปลาได้พัก



16.เตรียมตู้ให้ว่างและวางใกล้ๆ

ในกรณีที่ปลาในบ่อไม่สมานฉันท์กันเลย

ชนิดที่ว่า หัวเด็ดตีนขาดชาตินี้ไม่ขออยู่ร่วมกัน จะฟัดกันถึงตายลูกเดียว

แบบนี้ผู้เลี้ยงก็คงต้องรับ อย่าฝืน เริ่มจากแยกพักในคอกจนอาการดูดีขึ้น

จากนั้นก็คงต้องนำเค้ากลับขึ้นมาเลี้ยงในตู้ต่อไป แต่...

วิธีที่ดีที่สุด คือเราต้องเตรียมตู้หรือถังไฟเบอร์ให้พร้อม

ด้วยการวางตำแหน่งตู้ให้ไม่ไกลจากบ่อมากนัก

สิ่งที่เรามองข้ามไปก็คือ การดูดถ่ายน้ำจากบ่อไปใช้ในตู้ให้เต็ม!

เพื่อให้การปรับตัวและความเครียดของปลาที่ป่วยสาหัสเกิดขึ้นน้อยที่สุด





มาฮาโตะตัวเด็ด



17.ยาต่างๆต้องให้พร้อม

เมื่อปลามีการบาดเจ็บทั่วไป เช่น หางแตก ครีบแหว่ง เกล็ดหลุด หนวดขาด เหงือกแหว่ง ฯลฯ

กรณีแบบนี้ เราไม่มีความจำต้องแยกปลาออกมารักษา

เราเพียงดูแลคุณภาพน้ำในบ่อ และรอเวลาฟื้นตัว ก็เป็นสิ่งที่เพียงพอ

แต่หากถึงกรณีหงายท้อง มีแผลฉกรรจ์ ฯลฯ ต้องกั้นคอก หรือจับกลับขึ้นตู้

กรณีหนักๆแบบนี้ คงต้องใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ เพื่อช่วยให้อาการทุเลาลงโดยเร็ว

ดังนั้นยารักษาต่างๆ ก็ต้องเตรียมไว้ให้ครบครัน เผื่อไว้ให้หมด เหลือดีกว่าขาด...





“ดูๆๆๆ จ้องมันทั้งวัน ส่องหาไรค่ะ?” เมียผมถาม ฮาฮาฮา...



18.มีเวลาเฝ้าดูปลาแบบใกล้ชิดในช่วงสัปดาห์แรก

ในช่วงแรกของการอยู่ร่วมกันนั้น ความรุนแรงแบบคาดไม่ถึง เกิดขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

แต่หากเราได้อยู่เฝ้าสังเกตอาการและพฤติกรรมของปลาทุกตัวอย่างใกล้ชิดแล้วหล่ะก็

จะลดโอกาสในการสูญเสียไปได้มากเลยทีเดียว

เพราะเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เราจะทำการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

ตอนที่ผมจะลงปลา ผมกำหนดวันไว้ล่วงหน้าเป็นเดือนเลยนะครับ

กางปฎิทินเลยครับ หาวันหยุดยาว 3-4 วัน แล้วเราก็ลาพักร้อนเพิ่มต่ออีกหน่อย

สบายครับ หยุดงานยาวโลด มีเวลาให้เหล่าปลาสุดที่เลิฟอย่างเต็มที่ อิอิ

ในที่นี้ คงไม่ต้องถึงขนาดนอนเฝ้าบ่อ ขอให้ตอนกลางคืนมืดสนิด ก็คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

เท่าที่ผมสังเกต ในช่วง 2 สัปดาห์แรก เวลาในช่วงเช้ามืด

จะเป็นช่วงเวลาที่ปลาก้าวร้าวและทำร้ายกันมากที่สุด

คงต้องดูแลใกล้ชิดกันหน่อยนะครับ





ตอนนี้ขนาดก็อยู่กันราวๆ 24 นิ้วแล่ะ ปีหน้าขอเป็น 27 นิ้วละกั



19.กระชอนใหญ่ควรมี

ในการแก้ปัญหาต่างๆ การจับปลา ต้อนปลา ในบ่อที่มีพื้นที่กว้างๆ

กระชอนขนาดใหญ่เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น

เราควรจะหาซื้อมาประจำบ้านเอาไว้

แนำนำว่าควรเป็นแบบผ้าขาวที่มีรูพรุน

กระชอนแบบผ้านี้จะนุ่มมาก ไม่ทำอันตรายต่อตัวปลา

ถ้าในปลาที่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เราสามารถใช้กระชอนแบบนี้

ตักปลาขึ้นมาโดยไม่เกิดความเสียหายต่อตัวปลาเลยด้วยซ้ำไป







ปลาลงบ่อ เรื่องสีหายห่วง เข้มเอาดำเอา อาบแดดมันทั้งวัน เหอๆ



20.ทำใจเปิดรับความผิดหวังไว้ด้วย

แม้ทุกอย่างเราพยายามควบคุมอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม

แต่ที่ผ่านมาก็มักมีความผิดหวังเกิดขึ้นอยู่ตลอดมา

เวลามีความเสียหายหรือสูญเสียเกิดขึ้น หากเราได้ทำใจล่วงหน้าไว้แต่เนิ่นๆ

เราก็เอาชนะและผ่านช่วงเวลานั้นไปไม่ยากนัก



“อย่าคิดว่าวันนี้ปลาในบ่ออยู่รวมกันได้ดี และมันสมานฉันท์แบบนี้ได้ตลอดไป

เพราะว่าปลาชนิดนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูที่กระตุ้นการผสมพันธ์

ปลาบางตัวเห็นเป็นลูกไล่มาเป็นปี อาจจะกลับไปเป็นผู้ไล่กัดชาวบ้านเขาก็ได้ในวันหนึ่ง

นอกจากนี้ผู้เลี้ยงต้องสร้างคำว่า Limit เป็นมาตรฐานของตัวเองไว้

ในที่นี้หมายถึงว่า เมื่อปลากัดกัน เราจะยอมทนได้ถึงช่วงไหน?

จะต้องแยกปลาออกมารักษาเมื่อไหร่?

บางครั้ง ถ้าพ้นจุดที่เรามี Limit นี้ไว้ เช้าวันรุ่งขึ้นปลาอาจตายได้นะครับ” พี่เอไลท์ เคยว่าไว้





กระเบื้องสีเจ็บปวด (แฟนผมบังคับบบบบบ) ^_^’



ปลาในบ่อของผมเองนั้น ถือว่าโชคดีหน่อย

ทุกตัวรักใคร่ปรองดองกันดี ไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้น

ถือเป็นความสำเร็จเล็กๆของผมที่คิดว่าควรออกมาบอกเล่าเอาไว้

เผื่อมีใครจะสนใจจะนำไปปรับใช้ ก็ลองดูครับ

ขอย้ำว่า ที่ว่ามาทั้ง 20 ข้อ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง 100%

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางเป็นความรู้อันน้อยนิดของผม

เอาเป็นว่า หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนๆไม่มากก็น้อยนะครับ ^_^





มาฮาโตะอีกสักรูป...



ก่อนนี้ก็ผมเคยนั่งคิดอยู่ว่า จะทำเป็นกระทู้ดีมั้ย?

เพราะท่านผู้อ่าน ใช้เวลาเพียง 10 นาที ก็จะได้รับข้อมูลที่ผมสั่งสมมาหลายปี

มันช่างง่ายเสียเหลือเกิน!!!!!

แต่บอกตามตรง ผมอยากแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้อันน้อยนิดของผมแบบไม่เม้ม

เพื่อเป็นการนำพาวงการปลาอะโรวาน่าในบ้านเราให้พัฒนาไปด้วยกัน

หากต่างคนต่างหวงวิชา ต่างคนต่างทำ ผมว่าพวกเราคงไม่ไปถึงไหน

ผมอยากให้เราช่วยกันแลกเปลี่ยน ศึกษาและพัฒนาไปร่วมกัน

มันน่าจะทำให้วงการอะโรวาน่าบ้านเราขยายตัวไปได้มากกว่าทุกวันนี้

เหมือนกับที่ก่อนนี้ผมถ่ายรูปมาลง แล้วทุกท่านก็บอกชอบ ฯลฯ

พอผมมาแนะนำเทคนิคการถ่ายต่างๆนิดเดียว

เดี๋ยวนี้ถ่ายกันสวยกว่าผมกันไปหมดแล้ว ^_^’

ก็ทำให้เว็บมีสีสันมากขึ้น มีภาพปลาให้ชมกันมากขึ้น

ทุกคนสนุกสนานขึ้น ก็ทำให้การเลี้ยงปลาของเรามีความสุขมากขึ้น

นี่แหล่ะสิ่งที่ผมกำลังจะบอก เราต้องร่วมกันสร้างสรรค์...

อ่อ...ใครที่ยังไม่เคยอ่านบทความสอนเทคนิคการถ่ายภาพปลา

แหล่งที่มา http://www.arowanacafe.com/articles/view.php?section=6&id=84
ขอขอบคุณ http://www.hime-shopping.com/
http://www.arowana-asia.com/ เว็บอโรวาน่า เว็บน้องใหม่พร้อมให้บริการแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ปลามังกร ข่าวสารจากทุกมุมโลก

Add to Google Reader or Homepage